การศึกษาแนวทางในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี RFID ร่วมกับการส่งออกอาหารทะเลแช่แข็ง


ประเทศไทยนับว่าเป็นผู้ผลิตสินค้าการเกษตรที่สำคัญของโลก อีกทั้งรัฐบาลไทยก็ได้ให้ความสำคัญกับการส่งออกอาหารจากประเทศไทยไปยังต่างประเทศ จึงเกิดคำกล่าวที่ว่า “ครัวไทยสู่ครัวโลก” โดยในธุรกิจส่งออกอาหารนั้นจะเน้นในด้านการสร้างความเข้มแข็งในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สร้างมาตรฐานอาหารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพสินค้าให้ตรงความต้องการของลูกค้าจากข้อมูลสถิติการส่งออกอาหารของ World Trade Organization (WTO) ระบุว่าไทยมีส่วนแบ่งตลาดด้านการส่งออกอาหารอยู่ในอันดับ 5 ของโลก โดยกลุ่มอาหารที่ทำการส่งออกได้แก่
– กลุ่มอาหารทะเลแช่แข็ง และแปรรูป
– ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป
– ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป
– อาหารแปรรูปอื่นๆ
– น้ำตาล

ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอาหารของประเทศไทย
จากแนวโน้มการแข่งขันทางธุรกิจที่เข้มข้น ผลักดันให้ภาคธุรกิจต้องยกระดับความสามารถในการดำเนินธุรกิจ และการขนส่งเพื่อเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งการนำเทคโนโลยีต่าง ๆมาใช้ควบคู่ไปกับระบบการขนส่ง ก็จะทำให้สามารถช่วยเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการขนส่งทำให้เกิดการขนส่งที่มีความรวดเร็ว และเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งได้ ซึ่งการนำ RFID มาใช้ในระบบการขนส่งนั้นนับว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีการจับตามองมากที่สุด

การขนส่งอาหารทะเลแช่แข็ง
เมื่อผู้ผลิตผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อของลูกค้าแล้วสินค้าจะถูกจัดเก็บไว้ในห้องเย็น (Cold Storage) เพื่อรอการส่งมอบให้กับลูกค้า และเมื่อถึงกำหนดระยะเวลาส่งมอบบริษัทก็จะทำการจองตู้ขนส่งสินค้า เพื่อมารับสินค้า เพื่อทำการส่งออกไปยังให้ลูกค้าโดยผ่านบริษัทที่รับขนส่ง เพื่อไปยังท่าเรือ แล้วส่งต่อไปให้ตัวแทนจำหน่าย จากนั้นก็จะถูกส่งไปยังลูกค้าต่อไป โดยผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็งจะถูกจัดเก็บและขนส่งที่อุณหภูมิต่ำกว่า -18 องศา C เนื่องจากที่อุณหภูมินี้เป็นอุณหภูมิที่ทำให้จุลินทรีย์ไม่สามารถดำเนินปฏิกิริยาทางชีวเคมีได้ ทำให้จุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุทำให้อาหารเน่าเสียเหล่านี้ชะงักการเติบโต และหยุดกระบวนการเมทตาบอลิซึมลงทำให้อาหารยังคงรักษาสภาพไว้ได้ และอุณหภูมินี้ไม่มีผลต่อคุณลักษณะและคุณภาพของอาหาร  การขนส่งอาหารทะเลแช่แข็งต้องมีความระวังและใส่ใจในเรื่องของอุณหภูมิ เพื่อป้องกันไม่ให้อาหารเกิดการละลาย ซึ่งสามารถทำได้โดยควบคุมอุณหภูมิตั้งแต่การจัดเก็บ การเคลื่อนย้ายอาหารออกจากห้องจัดเก็บสู่ตู้ขนส่งต้องทำอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้  ตู้ขนส่งสินค้าที่อุตสาหกรรมแช่แข็งใช้นั้นจะเป็นประเภท Refrigerator Cargoesซึ่งเป็นตู้สินค้าประเภทที่มีเครื่องปรับอากาศ และจะมีการติดตั้งอุปกรณ์อัตโนมัติบันทึกอุณหภูมิภายในตู้ อีกทั้งยังมีฉนวนป้องกันความเย็นเพื่อไม่ให้ความร้อนจากบรรยากาศภายนอกเข้าสู่ตู้ในขณะที่รถวิ่งด้วยความเร็วสูง โดยก่อนที่จะนำสินค้าเข้าตู้ จะต้องทำให้ตู้ขนส่งเย็นก่อน (Pre-cooled) และในการรับผลิตภัณฑ์ควรให้รถขนส่งรับผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งเข้าตู้ผ่านทาง Port door ซึ่งเป็นประตูที่มีฉนวนป้องกันการสูญเสียความเย็น และการจัดวางสินค้าภายในตู้ขนส่งก็ต้องไม่วางแน่นเกินไป เพราะจะทำให้ความเย็นกระจายได้ไม่ทั่วถึง การขนส่งอาหารทะเลแช่แข็งให้ถึงลูกค้านั้นต้องกระทำอย่างรวดเร็ว และต้องมีการควบคุมอุณหภูมิตลอดกระบวนการขนส่งเนื่องจากอุณหภูมินี้จะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพของสินค้า ตลอดจนการยอมรับของผู้บริโภค เพราะบ่อยครั้งที่มักพบว่าผลิตภัณฑ์อาหารเกิดการเสื่อมเสียระหว่างการขนส่ง ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการปฏิบัติงานในระหว่างการขนส่งที่ไม่ได้มาตรฐาน  และขาดการตรวจติดตาม โดยส่วนมากจะมักพบตรงจุดที่มีการเปลี่ยน mode ระหว่างการเคลื่อนย้ายหรือในระหว่างจุด Loading และ Unloading  สินค้า เช่นการขนสินค้าจากห้องเย็นที่เก็บสินค้าของโรงงานเข้าตู้ Refrigerator Cargoes และการขนสินค้าจากตู้ Refrigerator Cargoes เข้าสู่ห้องจัดเก็บสินค้าของร้านค้า ซึ่งตรงจุดนี้มักจะใช้เวลาในการดำเนินงานนาน รวมถึงขาดการควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้จึงทำให้เกิดปัญหาที่ตามมาในกระบวนการขนส่งอาหารทะเลแช่แข็งส่งออก ถึงแม้ว่าการเคลื่อนย้ายและขนส่งภายในโรงงานจะมีการควบคุมเป็นอย่างดีเพราะถูกควบคุมอยู่ภายใต้ข้อกำหนด GMP แต่ปัญหาอาจเกิดจากพนักงานที่ทำหน้าที่ในกระบวนการอาจไม่มีความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของการควบคุมอุณหภูมิและเวลาในกระบวนการดีพอ และไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสินค้า รวมถึงผู้ที่ให้บริการในการขนส่ง นั้นไม่มีการตรวจติดตามอย่างเคร่งครัดเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่องมือในการตรวจติดตามสูง

This entry was posted in อินเตอร์เน็ต and tagged . Bookmark the permalink.

Comments are closed.